วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2551

บทที่ 5

สื่อที่ไม่ต้องใช้เครื่องฉาย

สื่อที่ไม่ต้องใช้เครื่องฉายนี้ นับว่ามีความสำคัญต่อการเรียนการสอนไม่แพ้สื่อประเภทอื่น ทั้งนี้เพราะใช้งานง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์การฉายแต่อย่างใด ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก สื่อที่ไม่ต้องใช้เครื่องฉายมีมากมายหลายชนิด แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะบางชนิดที่นิยมใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน

ของจริง (Real Thing)

ของจริงหรือวัตถุ เป็นสื่อการเรียนการสอนที่ให้ประโยชน์ในการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นสิ่งที่ผู้เรียนได้ประสบโดยตรงด้วยตนเอง อาจเป็นไปในลักษณะต่าง ๆ เช่น ได้เห็น ได้ชิม ได้กลิ่น ได้จับต้องลูบคลำ เป็นต้น ซึ่งทำให้ผู้เรียนเกิดความประทับใจและจดจำได้นาน ของจริง อาจแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
1. วัตถุหรือของจริง (Object) ที่นำมาทั้งหน่วยมิใช่นำมาแต่ส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น นั่นก็หมายความว่าวัตถุหรือสิ่งของนั้นจะต้องไม่ลำบากต่อการนำเข้ามาในห้องเรียน เช่น ไม่ใหญ่เกินไป ไม่ยุ่งยากซับซ้อนเกินไป เป็นต้น
2. ของตัวอย่าง (Specimen) เป็นเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งของวัตถุนั้น หรือเป็นเพียงตัวแทนของสิ่งนั้น เช่น ตัวอย่างหิน เป็นต้น
ของจริงหรือของตัวอย่างที่นำมาใช้ในการเรียนการสอนนั้น ควรจะได้มาจากการร่วมมือของนักเรียนในการมีส่วนร่วมหามา และควรมีขนาดใหญ่พอสมควรที่ทุกคนสามารถมองเห็นได้ทั่วถึง ถ้าเล็กเกินไปอาจจะต้องใช้เครื่องฉายวัสดุทึบแสง (Opaque Projector) ขยายให้มีขนาดใหญ่ปรากฏที่จอ เพื่อนักเรียนจะได้เห็นสิ่งนั้นได้ทั่วถึงทุกคน

หุ่นจำลอง (Model)

หุ่นจำลอง เป็นสิ่งแทนของจริง เพราะในการสอนแทนที่ผู้สอนจะวาดภาพบนกระดานดำ ก็จะเป็นเพียงแสดงถึงหลักการและภาพพจน์ของวัสดุนั้น ๆ แต่หุ่นจำลองจะสามารถครอบคลุมทั้งหลักการ รูปร่าง และยังสามารถแสดงการทำงานได้ด้วย นอกจากนี้หุ่นจำลองยังนำมาขยายสัดส่วนให้ใหญ่หรือเล็กกว่าของจริง ซึ่งอาจไม่สะดวกที่จะนำมาสู่ห้องเรียน หุ่นจำลองอาจจะเป็นสิ่งที่ใช้เวลายาวนานในการผลิต หรือสิ่งง่าย ๆ ที่ช่วยสื่อความเข้าใจได้
1. ประโยชน์ของหุ่นจำลอง หุ่นจำลองมีประโยชน์ต่อการเรียนการสอน ในการสอนเนื้อหาบางเรื่องที่ซับซ้อนโดยสรุปมีดังต่อไปนี้
1.1 ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ถึงรูปร่าง ลักษณะ สัดส่วน จากของจริงที่มีขนาดใหญ่เกินที่จะนำเข้ามาสู่ชั้นเรียนได้
1.2 ช่วยในกรณีของจริงมีขนาดเล็กเกินไป ทำให้ผู้เรียนมองไม่ชัดเจน
1.3 ใช้ในการสอนเนื้อหาหรือเรื่องราวที่ไม่สามารถเห็นโครงสร้างภายใน เช่น จรวด เป็นต้น
1.4 ใช้ในการสอนเนื้อหาที่ยุ่งยากซับซ้อนเกินกว่าความเข้าใจของผู้เรียน
1.5 ใช้ในการสาธิตที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว ซึ่งวัตถุ 2 มิติอาจจะนำเสนอได้ไม่ชัดเจนเท่ากับวัตถุจำลอง 3 มิติ
1.6 หุ่นจำลองยังสามารถแสดงถึงการทำงานได้ นอกเหนือจากแสดงถึงหลักเกณฑ์
(Principle) ของภาพนั้น ๆ

2. ประเภทของหุ่นจำลอง หุ่นจำลองแบ่งได้หลายประเภท ดังนี้
2.1 หุ่นทรงภายนอก (Solid Model) แสดงเฉพาะรูปร่างทรวดทรงภายนอกเท่านั้น เน้นในเรื่องสัดส่วน สี พื้นผิว หรือลวดลาย แต่อาจจะมีขนาดผิดไปจากของจริงได้ เช่น หุ่นจำลองผลไม้
2.2 หุ่นเท่าของจริง (Exact Model) มีขนาด รูปร่าง และรายละเอียด ต่าง ๆ เท่าของจริงทุกประการ
2.3 หุ่นจำลองแบบขยายหรือย่อส่วน (Enlarged or Reduced Model) เป็นหุ่นจำลองที่ย่อหรือขยาย ให้เป็นสัดส่วนกับของจริง บางครั้งก็เรียกว่าหุ่นจำลองแบบมาตราส่วน เช่น หุ่นจำลองอาคาร
2.4 หุ่นจำลองแบบผ่าซีก (Cut-away Model) แสดงให้เห็นโครงสร้างภายใน โดยอาจจะตัดพื้นผิวบางส่วนออกไป เช่น หุ่นจำลองเตาหลอม เป็นต้น
2.5 หุ่นจำลองแบบแยกชิ้นส่วน (Build-up Model) เป็นหุ่นจำลอง ที่แสดงให้เห็นส่วนประกอบต่าง ๆ จากภายนอกถึงภายในโดยแยกเป็นส่วน ๆ และสามารถประกอบเข้าในลักษณะเดิมได้ เช่น หุ่นจำลองแสดงอวัยวะภายในของมนุษย์ เป็นต้น
2.6 หุ่นจำลองแบบเคลื่อนไหวหรือทำงานได้ (Working Model) แสดงกลไกและการทำงานเหมือนของจริง เช่น หุ่นจำลองเครื่องจักรไอน้ำ เป็นต้น
2.7 หุ่นจำลองแบบเลียนของจริง (Mock-up Model) หุ่นประเภทนี้จะใช้ชิ้นส่วนรูปร่าง และการทำงานเหมือนของจริงทุกอย่าง อาจจะใช้ในการสอนแบบจำลองสถานการณ์ (Simulation) เช่น จำลองการฝึกหัดขับเครื่องบินของนักบิน เป็นต้น

รูปภาพ (Flat Picture)

รูปภาพ หมายถึง ภาพถ่าย ภาพเขียน หรือภาพพิมพ์ในหนังสือต่าง ๆ ซึ่งจัดเป็นวัสดุ ที่มีประโยชน์ต่อการเรียนการสอน ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว กว่าการบรรยายหรืออธิบายเพียงอย่างเดียว ทั้งยังเป็นสื่อที่หาง่าย ราคาถูก รูปภาพที่เหมาะกับการนำมาใช้กับการเรียนการสอนควรมีลักษณะดังนี้
1. รูปภาพที่ตรงกับจุดมุ่งหมายในการสอน
2. เหมาะสมกับวัยของผู้เรียน
3. เกี่ยวข้องกับประสบการณ์เดิมของผู้เรียน
4. รูปภาพที่เป็นจริงหรือเหมือนจริง และแสดงขนาดที่ถูกต้อง
5. รูปภาพที่แสดงเรื่องสำคัญเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
6. รูปภาพที่มีการจัดภาพหรือประกอบภาพที่น่าสนใจ
7. รูปภาพที่มีความชัดเจนและมีขนาดโตพอจะมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ชัดเจน
8. เลือกภาพสีต่อเมื่อเห็นว่าสีจะช่วยการเรียนรู้ของนักเรียน
9. ภาพวาดจะเน้นรายละเอียดได้มากกว่าภาพถ่าย ในกรณีที่ภาพมีความซับซ้อน

หลักการใช้รูปภาพในการสอน
1. ใช้ให้ตรงจุดประสงค์ของเรื่องที่จะสอน มิฉะนั้นจะเป็นการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์
2. ใช้รูปภาพครั้งละน้อย ๆ ภาพ จะให้ผลดีกว่าใช้ครั้งละหลาย ๆ ภาพ เพราะจะทำให้ผู้เรียนเบื่อหน่ายและหมดความสนใจ
3. ใช้ร่วมกับอุปกรณ์ชนิดอื่น ๆ เพราะลำพังรูปภาพเพียงสิ่งเดียว จะไม่สามารถถ่ายทอดความหมายให้ผู้เรียนได้อย่างสมบูรณ์
4. ควรเลือกวิธีแสดงรูปภาพที่เหมาะสมที่สุด เช่น อาจจะใช้วิธีชูให้ดู ใช้เครื่องฉายวัสดุทึบแสง หรือทำเป็นสมุดลำดับภาพ เป็นต้น
5. แนะนำวิธีอ่านหรือดูภาพแก่ผู้เรียน เช่น ความสำคัญของภาพ ความแตกต่างหรือเหมือนกันของสิ่งต่าง ๆ ภายในภาพ ความเกี่ยวข้องหรือต่อเนื่องกันของภาพ เป็นต้น

วัสดุกราฟิก

วัสดุกราฟิกเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในการเรียนการสอน เนื่องจากวัสดุกราฟิกเป็นสื่อที่สามารถมองเห็นได้ด้วยสายตา ทำให้ผู้เรียนเข้าใจในเนื้อหาของสื่อได้ถูกต้อง รวดเร็วและดึงดูดความสนใจของผู้เรียนได้
คำว่า กราฟิก(Graphic) เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกว่า “Graphikos” หมายถึงการเขียนภาพ (Painting) หรือการวาดภาพ (Drawing) ที่เป็นภาพลายเส้นลักษณะต่าง ๆ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นศิลปะหรือศาสตร์ในการเขียนภาพลายเส้นนั่นเอง
คาร์เตอร์ วี กู๊ด (Carter V. Good. 1970 : 40) ได้ให้ความหมายของกราฟิกไว้ว่า กราฟิกเป็นศิลปะและวิทยาศาสตร์ของการนำเอาเส้น รูปภาพ รูปร่าง แผนภาพ รวมทั้งงานพิมพ์ การจัดทำหนังสือ มาออกแบบและผลิตเพื่อใช้ในกระบวนการสื่อสาร
เมื่อนำคำว่า กราฟิก มารวมกับคำว่า วัสดุ(Material) ซึ่งหมายถึง สิ่งของสิ้นเปลืองต่างๆใช้แล้วหมดไป เปลี่ยนสภาพได้ ไม่คงทนถาวรและมีราคาถูก เช่น กระดาษ ปากกา ดินสอ สี เป็นต้น จึงเกิดคำใหม่ขึ้นเรียกว่า วัสดุกราฟิก(Graphic Material)
สรุปได้ว่า วัสดุกราฟิก หมายถึง สื่อวัสดุที่สร้างขึ้นจากการใช้เส้น ขีดเขียน หรือวาดลงบนแผ่นกระดาษ หรือวัสดุผิวเรียบ เป็นภาพลายเส้น แผนภาพ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ ภาษา ซึ่งมีความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ช่วยในการสื่อสารแสดงความหมายของมนุษย์

1. คุณค่าของวัสดุกราฟิก
คุณค่าของวัสดุกราฟิกอยู่ที่ประสิทธิภาพของการดึงดูดความสนใจและการนำเสนอเรื่องราวต่างๆที่ตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้ บทบาทเฉพาะของวัสดุกราฟิก คือ การแสดงความคิดและความจริง โดยการสรุปแต่สาระที่สำคัญๆเพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยมีหลักการพื้นฐานว่า “คนเราเรียนรู้ได้มากกว่า เรียนรู้ได้เร็วกว่าและสามารถจดจำได้นานกว่า ถ้าหากได้เห็นมากกว่าการที่ได้ยินเพียงอย่างเดียว” ดังนั้นในการเรียนการสอนสามารถนำวัสดุกราฟิกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในกิจกรรมหลักๆได้ 3 ลักษณะคือ 1) ใช้ประกอบการบรรยายหรือการสอนโดยตรง 2) ใช้ในการจัดป้ายนิเทศหรือจัดนิทรรศการเพื่อนำเสนอความรู้ และ3) ใช้ในการผลิตวัสดุที่เป็นสื่อการสอน เช่น สไลด์ แผ่นภาพโปร่งใส เป็นต้น วัสดุกราฟิกจึงมีคุณค่าต่อการเรียนการสอน ดังนี้
1.1 เป็นสื่อการสอนที่ช่วยให้ผู้สอนและผู้เรียนเกิดความเข้าใจตรงกัน
1.2 ทำให้การเรียนการสอนน่าสนใจ ไม่น่าเบื่อหน่าย
1.3 ช่วยให้ผู้สอนสามารถสอนได้เนื้อหามากขึ้นเมื่อใช้เวลาที่เท่ากัน
1.4 ช่วยในการอธิบายสิ่งที่เข้าใจยากให้ง่ายและรวดเร็วขึ้น
1.5 ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนถูกต้อง
1.6 ช่วยดึงดูดและเร้าความสนใจของผู้เรียน
1.7 ช่วยให้ผู้เรียนจดจำเนื้อหาสาระได้นานขึ้น
1.8 ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ
1.9 สามารถนำไปใช้ได้ง่ายและสะดวกต่อการเก็บรักษา
1.10สามารถใช้ทบทวนซ้ำได้หลายครั้ง แลนานเท่าใดก็ได้
1.11เป็นสื่อการสอนที่สามารถผลิตขึ้นใช้ได้เอง ในราคาย่อมเยา

2. ประเภทของวัสดุกราฟิก
วัสดุกราฟิกมีหลายประเภท สามารถนำไปใช้ได้ตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้อาจจำแนกตามลักษณะของการนำไปใช้ได้ดังต่อไปนี้
2.1 แผนสถิติ คือ ทัศนวัสดุที่ทำขึ้นแทนข้อมูลที่เป็นตัวเลข ใช้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณที่เปลี่ยนแปลงไปตามตัวเลข ชนิดของแผนสถิติ แต่ละแบบจะมีลักษณะเด่น เหมาะที่จะแสดงจำนวน ข้อมูลที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้
2.1.1 แผนสถิติแบบเส้น (Line graphs) เป็นแบบที่เสนอข้อเท็จจริงได้ถูกต้องกว่าแบบอื่น ๆ โดยเส้นกราฟจะมีลักษณะขึ้นลง ตามลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างแกนสองแกน ที่แสดงค่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงตามช่วงระยะเวลา และความสัมพันธ์หรือความต่อเนื่องของข้อมูล ถ้าข้อมูลหลายอย่าง ก็ควรให้สีต่าง ๆ กัน










ภาพที่ 5.11 แผนสถิตแบบเส้น

2.1.2 แผนสถิติแบบแท่ง (Bar graph) เป็นแบบที่ทำง่าย อ่านง่ายกว่าแบบใด ๆ ทั้งหมด แต่ละแท่งจะต้องมีความกว้างเท่ากันหมด ส่วนความยาวของแท่งนั้นจะมากน้อย ขึ้นอยู่กับปริมาณที่เราใช้แทน และแท่งนี้จะอยู่ในแนวนอนหรือแนวตั้งก็ได้ เพื่อให้น่าสนใจและเข้าใจยิ่งขึ้น อาจใช้สีแสดงความแตกต่างของชนิดของข้อมูล หรือใช้รูปที่เป็นเรื่องราวหลักของข้อมูลเป็นภาพประกอบ จะทำให้เข้าใจ และเห็นภาพพจน์ของข้อมูลนั้น ๆ ว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรชัดเจนยิ่งขึ้น โดยมากแผนสถิติแบบนี้จะใช้ได้ดีกับการเปรียบเทียบในเรื่องของจำนวนหรือขนาด







ภาพที่ 5.12 แผนสถิติแบบแท่ง

2.1.3 แผนสถิติแบบวงกลม (Pie graphs) เป็นแบบที่ใช้สำหรับเปรียบเทียบ ความแตกต่างของปริมาณของข้อมูลต่าง ๆ ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลทั้งหมดและแยกส่วน เริ่มจากจุดศูนย์กลางออกเป็นส่วน ๆ เหมาะสำหรับแสดงอัตราส่วน หรืออัตราร้อยละของข้อมูลทั้งหมดกับส่วนย่อย







ภาพที่ 5.13 แผนสถิติแบบวงกลม

2.1.4 แผนสถิติแบบพื้นที่ (Area graphs) แผนสถิติแบบนี้ใช้ขนาดของพื้นที่รูปสี่เหลี่ยม หรือรูปทรงเรขาคณิตอื่น ๆ มักใช้สำหรับเปรียบเทียบปริมาณอย่างคร่าว ๆ มีความละเอียดน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย ต้องมีตัวเลขแสดงปริมาณแท้จริงกำกับแต่เป็นแบบที่ทำให้เข้าใจได้เร็ว






ภาพที่ 5.14 แผนสถิติแบบพื้นที่

2.1.5 แผนสถิติแบบรูปภาพ (Pictorial graphs) แผนสถิติแบบนี้ใช้รูปภาพ แสดงความหมายของข้อมูล ภาพแต่ละภาพเหมือนกัน และมีขนาดเท่ากันหมดความแตกต่าง ของปริมาณที่จะแสดงขึ้นอยู่กับจำนวนของภาพ และภาพหนึ่ง ๆ ให้แทน ปริมาณของสิ่ง ๆ หนึ่งเท่าใด ก็กำหนดไว้ตายตัว แผนสถิติแบบนี้ทำให้เข้าใจความหมายได้เร็ว และดึงดูดความสนใจอย่างยิ่ง





ภาพที่ 5.15 แผนสถิติแบบรูปภาพ
2.2 แผนภาพ (Diagrams)
แผนภาพ คือ ภาพง่าย ๆ ที่เขียนขึ้นเพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างกันภายในขบวนการ หรือเรื่องราว โดยใช้เส้นและสัญลักษณ์เข้าประกอบ รูปที่เขียนขึ้นนี้อาจไม่เหมือนตัวจริงทุกประการ แต่ใช้อธิบายให้เข้าใจได้แม้แต่กระบวนการที่เป็นนามธรรม เช่น พวกเครื่องจักรแบบต่าง ๆ ภาพร่างระบบประสาทของคน แผนภาพมักจะพบตามหนังสือพิมพ์ วารสาร หนังสือ เพื่ออธิบายสิ่งต่าง ๆ การใช้แผนภาพในการสอนนั้น ควรใช้ร่วมกับสื่อประเภทอื่น ๆ ที่สอดคล้องและสัมพันธ์กัน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ แผนภาพมีหลายแบบดังนี้
2.2.1 แผนภาพลายเส้น เป็นแผนภาพที่เขียนสัญลักษณ์หรือภาพเหมือนด้วยลายเส้นแสดงโครงสร้างภายในและภายนอก พร้อมกับมีเส้นโยงแสดงการทำงานเกี่ยวโยง และความสัมพันธ์ต่าง ๆ เหมาะสำหรับแสดงการทำงานของระบบที่มีการเคลื่อนไหว เช่น แสดงการทำงานของเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ เป็นต้น









ภาพที่ 5.16 แผนภาพลายเส้น
ที่มา (รัฐกรณ์ คิดการ, 2543, หน้า 68)

2.2.2 แผนภาพแบบรูปภาพ เป็นแผนภาพที่ใช้ภาพเหมือน หรือรูปถ่ายของจริง ส่วนต่าง ๆ มาประกอบกันเข้า มีเส้นโยงความต่อเนื่องและความสัมพันธ์เหมาะสำหรับการแสดงการทำงาน หรือความสัมพันธ์ของเครื่องมือ ที่ประกอบขึ้นจากเครื่องมือหลาย ๆ ชิ้น เช่น ระบบเครื่องบันทึกเสียง ระบบโทรทัศน์วงจรปิด เป็นต้น










ภาพที่ 5.17 แผนแบบรูปภาพ
ที่มา (รัฐกรณ์ คิดการ, 2543, หน้า 69)

2.2.3 แผนภาพแบบผสม เป็นแผนภาพที่ใช้เทคนิคการเขียนลายเส้นบนรูปภาพ เขียนรายละเอียดโครงสร้างเป็นภาพลายเส้น เฉพาะส่วนที่ต้องการเน้น ให้ผู้ดูเข้าใจ








ภาพที่ 5.18 แผนภาพแบบผสม
ที่มา (รัฐกรณ์ คิดการ, 2543, หน้า 69)

2.3 แผนภูมิ (Charts)
แผนภูมิ คือ อุปกรณ์การสอนที่จัดเป็นภาพ หรือสัญลักษณ์ ประกอบคำบรรยายสั้น ๆ เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลและแนวความคิด ส่วนมากเราจะไม่ใช่แผนภูมิเพื่อสื่อข้อมูลทั้งหมด แต่จะเป็นการใช้ในลักษณะของการสรุปเน้นจุดสำคัญ หรือทำให้ข้อมูลนั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เราสามารถใช้แผนภูมิได้หลายจุดประสงค์ โดยอาจจะแสดงภาพถาวร ติดภาพนั้นไว้เป็นเวลานานที่เรียกว่า วอลชาร์ท (Wall Chart) หรืออาจใช้เน้น หรือสรุปจุดสำคัญของบทเรียน ลักษณะนี้จะเป็นการใช้แผนภูมิแบบชั่วคราว เป็นระยะสั้น ๆ สิ่งสำคัญ คือ แผนภูมิควรเรียบง่าย แต่ก็ยากที่จะเขียนเองบนกระดานดำ จึงจะเหมาะที่จะนำมาสร้าง ประเภทของแผนภูมิจำแนกได้หลายชนิดดังนี้
2.3.1 แบบตาราง (Tabular) ใช้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างเวลากับเหตุการณ์ เช่น ตารางเรียน ตารางเวลารถไฟเข้าออก อัตราค่าโดยสาร เป็นต้น







ภาพที่ 5.19 แผนภูมิแบบตาราง

2.3.2 แบบต้นไม้ ใช้แสดงให้เห็นว่าความคิดรวบยอดสิ่งหนึ่ง สามารถแยกออกเป็นหลายสิ่ง และสิ่งเหล่านั้นได้แก่อะไรบ้าง เช่น เราได้อะไรจากพืช การคมนาคมมีกี่ทาง เครื่องนุ่งห่มได้มาจากอะไรบ้าง เป็นต้น








ภาพที่ 5.20 แผนภูมิแบบต้นไม้

2.3.3 แบบสายธาร (Stream) ใช้แสดงให้เห็นว่าสิ่งหนึ่งเกิดจากหลายสิ่งมารวมกัน จะเห็นว่าคล้ายกับแบบต้นไม้ แต่กลับกัน เหมาะสำหรับใช้สอนเรื่องเกี่ยวกับการประกอบ การสังเคราะห์ต่าง ๆ












ภาพที่ 5.21 แผนภูมิแบบสายธาร

2.3.4 แบบองค์การ (Organization) ใช้แสดงความสัมพันธ์ของสายงานในองค์การ หรือสถานที่ทำงาน ความสัมพันธ์นี้นิยมใช้เส้นตรงโยงระหว่างกรอบสี่เหลี่ยมที่ล้อมรอบรายชื่อของหน่วยงานย่อย ๆ เข้าด้วยกัน







ภาพที่ 5.22 แผนภูมิแบบองค์กร

2.3.5 แบบต่อเนื่อง (Flow) ใช้แสดงลำดับขั้นของการทำงาน การดำเนินกิจกรรม มักใช้ลูกศรเชื่อมโยงแต่ละชั้นตามลำดับ เช่น แสดงความเจริญเติบโตของพืช แสดงลำดับขั้นของการตอนกิ่ง เป็นต้น










ภาพที่ 5.23 แผนภูมิแบบต่อเนื่อง
ที่มา (ชม ภูมิภาค, ม.ป.ป., หน้า 136)

2.3.6 แบบเปรียบเทียบ (Comparison) ใช้เปรียบเทียบระหว่างความแตกต่างกัน
ของแนวความคิด รูปร่าง และลักษณะ เช่น แสดงให้เห็นลักษณะของพืช ลักษณะอวัยวะภายในร่างกายคน เป็นต้น













ภาพที่ 5.24 แผนภูมิแบบเปรียบเทียบ
ที่มา (ชม ภูมิภาค, ม.ป.ป., หน้า 136)
2.3.7 แบบอธิบายภาพ (Pictorial) ชี้ให้เห็นส่วนต่าง ๆ ของภาพตามที่ต้องการ โดยเขียนเส้นโยงกับคำบรรยายสั้น ๆ เช่น แสดงให้เห็นลักษณะภายในของผลไม้ ลักษณะอวัยวะภายในร่างกายคน หรือส่วนประกอบภายในของดอกไม้ เป็นต้น








ภาพที่ 5.25 แผนภูมิแบบอธิบายภาพ
ที่มา (ชม ภูมิภาค, ม.ป.ป., หน้า 136)

2.3.8 แบบวิวัฒนาการ (Progression) ใช้แสดงความเปลี่ยนแปลงที่เจริญขึ้นและติดต่อกันมาไม่ขาดตอนจนถึงปัจจุบัน เช่น วิวัฒนาการการเจริญเติบโตของสัตว์ เป็นต้น









ภาพที่ 5.26 แผนภูมิแบบวิวัฒนาการ
ที่มา (ชม ภูมิภาค, ม.ป.ป., หน้า 136)



2.4 ภาพโฆษณา (POSTERS)
ภาพโฆษณา คือ สื่อที่แสดงออกถึงความสัมพันธ์ของการออกแบบการใช้สี และเรื่องราวหรือข้อความ ที่สามารถจะดึงดูดความสนใจของผู้ดู และมีอิทธิพลพอที่จะทำให้ผู้ดูเกิดความคิดและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามความต้องการของผู้จัดทำ จะโดยทันทีหรือในระยะหลังก็ได้
ภาพที่ 5.27 ภาพโฆษณา
ที่มา (ชม ภูมิภาค, ม.ป.ป., หน้า 146)
2.4.1 ลักษณะภาพโฆษณาที่ดี
1) มีลักษณะง่าย ๆ มองแล้วสามารถเข้าใจได้ทันที
2) มีความเหมาะสมทั้งในด้านขนาด ภาพประกอบ สัญลักษณ์ ตัวอักษร
3) ข้อความกระทัดรัด และมีความสมบูรณ์ในตัวเอง
4) ดึงดูดความสนใจ
5) การออกแบบและสี ต้องสะดุดตาชวนมอง
2.4.2 วิธีใช้ภาพโฆษณา
1. เพื่อเร้าความสนใจ หรือเป็นข้อเตือนใจ เช่น โปสเตอร์รณรงค์การเลือกตั้ง
หรือ โปสเตอร์ต่อต้านยาเสพย์ติด เป็นต้น
2. เพื่อสร้างบรรยากาศเกี่ยวกับสิ่งที่เรียน
3. เพื่อชักนำและชักจูงให้เด็กปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน
4. เพื่อเสนอข่าวสารและข้อมูลต่าง ๆ

2.5 การ์ตูน (CARTOON)
เป็นทัศนวัสดุลายเส้นแบบรูปภาพ เขียนขึ้นเพื่อใช้แทนบุคคล สัตว์ สิ่งของ แนวความคิด หรือสถานการณ์ เพื่อจูงใจให้แนวคิดสร้างอารมณ์ขัน หรือล้อเลียน การ์ตูนนับเป็นสื่อที่ให้ความหมายกับผู้ดู ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเด็กอายุขนาด 6- 11 ขวบ จะชอบการ์ตูนมาก การ์ตูนมีหลายประเภทดังนี้
2.5.1 ภาพการ์ตูน (Cartoons) เป็นภาพลายเส้นง่ายที่วาดขึ้นเพื่อที่บอกแสดง
ชี้แจงหรือล้อเลียน เสียดสี ให้ขบขัน เช่น การ์ตูนล้อเลียนการเมืองของหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ เป็นต้น
ภาพที่ 5.28 การ์ตูนธรรมดา
ที่มา (การ์ตูนศล, 2543, หน้า 4)

2.5.2 การ์ตูนเรื่อง (Comic strips) เป็นการ์ตูนที่เขียนเป็นเรื่องราวเป็นตอนในตัว เช่น ปลัดเกลี้ยงมาเอง ของ แอ๊ด..มติชน ในหนังสือพิมพ์มติชน ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน ของชัย ราชวัตร เป็นต้น




ภาพที่ 5.29 การ์ตูนเรื่อง
ที่มา (แอ๊ด มติชน,2543, หน้า 12)

2.5.3 หนังสือการ์ตูน (Comic books) เป็นการ์ตูนเรื่องยาว พิมพ์เป็นเล่ม เช่น โดราเอมอน แก้วหน้าม้า เป็นต้น
ภาพที่ 2.30 หนังสือการ์ตูน
ที่มา (ชม ภูมิภาค, ม.ป.ป., หน้า 144)

2.5.4 การ์ตูนลายเส้น (Stric Figures) เป็นการ์ตูนลายเส้น เขียนโดยอาศัยเส้นและ
รูปทรงประกอบกัน เน้นเฉพาะส่วนสำคัญ

ภาพที่ 5.31 การ์ตูนลายเส้น

คุณค่าของการ์ตูน
1.กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจในบทเรียนโดยเฉพาะในระดับอนุบาลและประถมศึกษา
2. สามารถใช้ได้ทั้งการนำเข้าสู่บทเรียน ประกอบการอธิบาย และช่วยให้บทเรียนมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น
3. ใช้เป็นกิจกรรมส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของผู้เรียน




การใช้ทัศนวัสดุกับการสอน

หลักในการใช้ทัศนวัสดุประกอบการสอน คือ
1. อภิปรายในแง่มุมที่เกิดปัญหาในวัสดุนั้น เป็นวิธีนำผู้เรียนให้เข้าใจปัญหา เกิดความสนใจที่จะศึกษาค้นคว้าในเรื่องที่ต้องการสอนได้ดีวิธีหนึ่ง แล้วยังช่วยในการชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหา
2. ใช้ประกอบการอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น การอธิบายลักษณะ หลักการ การเอาทัศนวัสดุ เช่น ภาพ แผนภาพ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ของผู้สอนได้ดีกว่าของจริงในกรณีดังกล่าว
3. ใช้ในการกระตุ้นความสนใจ ซึ่งช่วยเร้าการตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพจากผู้เรียน บางครั้งยังอาจมีผลต่อทัศนคติอีกด้วย
4. ใช้ทบทวนและสรุปบทเรียน เมื่อสอนจบแล้ว ควรสรุปเรื่องราวทั้งหมดเป็นแผนภาพ แผนภูมิ หรือทัศนวัสดุอื่นที่ทำให้ผู้เรียนเข้าใจ และจำบทเรียนได้ดีขึ้นมากกว่าฟังคำบรรยายอย่างเดียว
5. สามารถนำมาใช้ได้กับทุกรูปแบบการสอนในแง่การสนับสนุนข้อมูล อาทิเช่น ในการนำเสนอ การอภิปราย สัมมนา เป็นต้น

ข้อควรคำนึงในการใช้ทัศนวัสดุประกอบการสอน
1. ผู้สอนจะต้องมีความแน่ใจว่าผู้เรียนสามารถมองเห็นทัศนวัสดุที่แสดงได้อย่างชัดเจนทุกคน ข้อนี้ควรคำนึงถึงขนาดใหญ่ของทั้งภาพและตัวอักษรด้วย
2. การอธิบายของผู้สอนเสียงต้องชัดเจนและมีการเตรียมพร้อมในแง่ข้อมูล จะได้ไม่สับสนต่อผู้เรียน
3. ขณะอธิบายผู้สอนไม่ยืนบังทัศนวัสดุที่แสดง ทำให้ผู้เรียนบางส่วนมองไม่เห็นควรหาที่จัดวางให้เหมาะสม
4. อย่าแสดงวัสดุพร้อมกันหลายชิ้นเกินไป เพราะจะทำให้ดูไม่เด่น และผู้สอนจะสับสนเองด้วย
5. ใช้เวลาในการแสดงวัสดุให้นานพอที่ผู้เรียนจะทำความเข้าใจได้ตลอด และเน้นจุดสำคัญของทัศนวัสดุนั้น ๆ ด้วย
6. อย่าแสดงวัสดุไว้นานจนเกินไป จะทำให้ผู้เรียนชินและขาดความสนใจ หรือหมดคุณค่าที่จะเป็นวัสดุประกอบการสอน โดยเฉพาะภาพที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน
7. ต้องแน่ใจว่าวัสดุเรียงลำดับความคิดได้ถูกต้อง ง่ายต่อการทำความเข้าใจ
8. ขณะอธิบายต้องหันหน้าเข้าหาผู้เรียน ไม่ใช่หันหลังดูวัสดุที่แสดง
9. ก่อนนำมาใช้ให้ทดสอบดูให้แน่ใจก่อนว่า ภาพที่ปรากฏในทัศนวัสดุที่แสดง ไม่ทำให้ผู้เรียนเข้าใจผิด โดยเฉพาะพวกแผนภาพที่แสดงกิจกรรมและการเคลื่อนไหว
10. อย่าพูดขณะที่หันไปจัดการกับวัสดุที่แสดง เพราะอาจจะทำให้ผู้เรียนไม่ได้ยินการสื่อความหมายก็จะขาดตอนไปได้
11. อย่าใช้วัสดุที่ไม่แน่ใจว่ามีข้อบกพร่องหรือไม่ โดยให้ทดลองใช้ดูก่อนที่จะนำไปเสนอจริงในชั้นเรียน

การออกแบบและผลิตงานกราฟิก

1. การออกแบบงานกราฟิก
1.1 ส่วนประกอบของการออกแบบงานกราฟิก ส่วนประกอบของการออกแบบงานการฟิกหรือส่วนประกอบในการสร้างภาพ(Element of Design) มีดังนี้ (พงษ์ศักดิ์ ไชยทิพย์,2544 : 25-26)
1.1.1 จุด(point, dot) เป็นส่วนประกอบที่เล็กที่สุด เป็นพื้นฐานเบื้องต้นของส่วนประกอบต่างๆโดยอาจเรียงเป็นเส้น หรือรวมเป็นภาพ
1.1.2 เส้น(Line) เป็นส่วนประกอบของจุดหลายๆจุดต่อเนื่องกันจนกลายเป็นเส้น อาจเป็นเส้นตรง เส้นโค้ง รวมถึงสิ่งอื่นๆที่มีลักษณะเป็นแนวเส้น
1.1.3 รูปร่าง(Shape) เมื่อนำเส้นมาบรรจงจบกันจะเป็นภาพรูปร่างมีลักษณะเป็น 2 มิติ คือ กว้างและยาว ซึ่งมีหลายลักษณะ เช่น รูปสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม วงกลม หลายเหลี่ยม และรูปอิสระไม่แน่นอน
1.1.4 รูปทรง(Form) เป็นลักษณะของรูป 3 มิติ ซึ่งนอกจากจะมีความกว้างยาวแล้ว ยังเพิ่มความหนาขึ้นอีกด้วย ทำให้เราทราบถึงรูปร่างสัณฐานของวัตถุต่างๆได้
1.1.5 แสงและเงา(Light and Shade) เราสามารถเห็นวัตถุต่างๆได้ก็ต่อเมื่อมีแสงไปกระทบวัตถุนั้น แล้วแสงจากวัตถุนั้นสะท้อนเข้าตามเรา จึงทำให้เราเห็นภาพขึ้น ส่วนเงานั้นจะทำให้เราเห็นภาพนั้นเด่นชัดขึ้น หรือเห็นรายละเอียดชัดเจนขึ้นว่าวัตถุนั้นมีรูปร่างเป็นอย่างไร
1.1.6 สี(Color) สีมีอิทธิพลอย่างมากต่อมนุษย์เรา สีที่ปรากฏนั้นอาจเกิดมาจากการมองเห็นของสายตา จากการที่แสงส่องมากระทบวัตถุ เกิดจากสีที่มีอยู่ในตัวของวัตถุเอง เราอาจแยกสีออกได้ 2 ประเภท คือ
1) สีที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น สีของใบไม้ ดอกไม้ ท้องฟ้า สีผิว ฯลฯ
2) สีที่เกิดจากการผลิตขึ้นมาโดยมนุษย์ อาจให้สีเหมือนธรรมชาติหรือสร้างขึ้นมาใหม่ก็ได้
1.1.7 ลักษณะพื้นผิว(Texture) ในการออกแบบงานกราฟิก พื้นผิวมี 2 ลักษณะ คือ
1) พื้นผิวที่สามารถสัมผัสได้ อาจเรียบหรือขรุขระ
2) พื้นผิวที่สื่อออกมาด้วยลายเส้น หรือวิธีการออกแบบงานกราฟิก
1.1.8 สัดส่วน(Proporttion) สัดส่วนทั้งในส่วนของวัตถุและความเหมาะสมระหว่างวัตถุและบริเวณภาพ ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องขนาด ปริมาณ และบริเวณว่าง จะต้องพิจารณาให้ละเอียดไม่ควรละเลยเพราะจะมีผลต่อการสื่อความหมายได้
1.1.9 ทิศทาง(Direction) เป็นการนำสายตา จูงใจ และแสดงความเคลื่อนไหว อาจแสดงด้วยเส้น ลูกศร สายตา การเดินทาง ถนน ฯลฯ
1.1.10 จังหวะ ลีลา(Rhythm) การจัดวางเส้น รูปร่าง รูปทรง ที่มีความต่อเนื่อง มีลีลาที่เคลื่อนที่แสดงความถี่หรือใกล้ชิด ความห่างหรือไกลกัน และอาจมีความพอเหมาะพอดีที่เรียกว่า “ลงตัว”
1.1.11 บริเวณว่า(Space) ควรคำนึงถึงและใช้ให้ถูกต้อง มิเช่นนั้นแล้วจะมีผลต่อการสื่อความหมายให้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้ การใช้บริเวณว่างที่เหมาะสมจะทำให้ภาพชัดเจนง่ายต่อการรับรู้และเข้าใจ รวมไปถึงความงามอีกด้วย
1.1.12 ระยะของภาพ(Perspective) สายตามของมนุษย์เราจะมองเห็นภาพที่อยู่ใกล้ชัดเจนที่สุด และมองเห็นภาพที่อยู่ไกลเลือนรางให้รายละเอียดไม่ชัดเจน การรับรู้ของสายตาและการถ่ายทอดเพื่อสื่อความหมายในเรื่องระยะของภาพนี้ ทำให้เกิดความถูกต้อง สมจริงบอกได้ถึงขนาด สัดส่วน ระยะทาง ความลึก ฯลฯ

1.2 การจัดองค์ประกอบของการออกแบบงานกราฟิก
1.2.1 จัดให้เป็นเอกภาพ(Unity) เป็นสิ่งที่ช่วยทำให้ชิ้นงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์นั้นๆความเป็นเอกภาพจะครอบคลุมถึงเรื่องของความคิดและการออกแบบ
1.2.2 ความสมดุล(Balance) ความสมดุลในงานกราฟิกเป็นเรื่องของความงาม ความน่าสนใจ เป็นการจัดการสมดุลกันทั้งในด้านรูปแบบและสี มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ
1) ความสมดุลในรูปทรงหรือความเหมือนกันทั้งสองข้าง (Formal of Symmetrical Balance) คือ เมื่อมองดูภาพแล้วเห็นได้ทันทีว่าภาพที่ปรากฏนั้นเท่ากัน ลักษณะภาพแบบนี้จะทำให้ความรู้สึกที่มั่นคง เป็นทางการ แต่อาจทำให้ดูน่าเบื่อได้ง่าย
2) ความสมดุลในความรู้สึก หรือความสมดุลที่สองข้างไม่เหมือนกัน (Informal of Asymmetrical Balance) เป็นความแตกต่างกันทั้งในด้านรูปแบบ สี หรือพื้นผิว แต่เมื่อมองดูโดยรวมจะเห็นว่าเท่ากัน ไม่เอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ความสมดุลในลักษณะนี้ทำให้เกิดความรู้สึกเคลื่อนไหว แปรเปลี่ยน ไม่เป็นทางการ และไม่น่าเบื่อ
1.2.3 การจัดให้มีจุดสนใจ(Point of Interest) ภายในเนื้อหาที่จำกัดจะต้องมีการเน้น การเน้นจะเป็น ณ จุดใดจุดหนึ่งที่เห็นว่ามีความสำคัญ อาจทำได้ด้วยภาพหรือข้อความก็ได้ โดยมีหลักว่า “ความคิดเดียวและจุดสนใจเดียว การมีหลายความคิด หรือมีจุดสนใจหลายจุดจะทำให้การออกแบบล้มเหลวเพราะหาจุดเด่นไม่ได้ ภาพรวมจะไม่ชัดเจน ขาดเอกลักษณ์ของความเป็นผู้นำในตัวชิ้นงาน”

2. การผลิตงานกราฟิก มีขั้นตอนดังนี้
2.1 การเตรียมงาน (Plan art work) สิ่งที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่
2.1.1 ขนาดของงาน (Size of work area) ควรมีการพิจารณาว่าในงานชิ้นหนึ่ง ๆ
จะนำเอาส่วนประกอบต่าง ๆ ของภาพ มาจัดวางให้เกิดความเหมาะสมอย่างไร อาทิเช่น ขนาดของตัวอักษร ภาพ ช่องว่าง ฯลฯ เป็นต้น และขนาดของงานจะสามารถนำมาจัดเก็บเป็นหมวดหมู่ สะดวกแก่การจัดวาง และการนำไปใช้
2.1.2 มาตรฐานสัดส่วนของวัสดุ เช่น รูปภาพ คือ สไลด์
แผ่นโปร่งใส เป็นต้น
2.1.3 การออกแบบและการจัดวางภาพ (Visual design and layout) นับว่าเป็น
กฎเกณฑ์ของงานทางด้านกราฟิก ถือเป็นแนวทาง ซึ่งอาจไม่เคร่งครัดทุกจุด เพียงแต่ให้คำนึงถึงหลักการจัดองค์ประกอบของงานศิลปะ ได้แก่ ความง่าย ความเป็นอันหนึ่งกันเดียวกัน ความสมดุล เป็นต้น
2.2 การสร้างภาพ(Illustrating) ภาพสามารถสร้างได้หลายวิธี อาจจะจัดซื้อมาหรือจัดสร้างเองก็ได้ วิธีการสร้างภาพทำได้ดังนี้
2.2.1 ภาพสำเร็จรูป เป็นภาพที่ได้จากแมกกาซีน ภาพลอกมาจากหนังสือ ภาพขูดลบ(Dry Transfer) เป็นต้น
2.2.2 ขยายและย่อส่วนภาพ(Enlarging and Reducing Pictures) เป็นภาพที่ได้จากการขยาย หรือย่อส่วนจากภาพที่มีอยู่แล้ว โดยการฉายบนแท่นฉายภาพโปร่งใสข้ามศรีษะให้ขยายไปบนจอโดยใช้เครื่องฉายภาพทึบแสง เครื่องขยาย เป็นต้น แล้วลอกตาม หรือใช้การตีตาราง
2.2.3 การให้สีและแรเงา(Color and Shading) จะช่วยทำให้ภาพมีความคมชัดและน่าสนใจยิ่งขึ้น วัสดุที่นำมาใช้เพิ่มสีสัน ได้แก่ ปากกาปลายสักหลาด สีน้ำ สีกระป๋อง กระดาษสีต่างๆแผ่นฟิล์มติดแผ่นใส ดินสอสี เป็นต้น
2.2.4 การออกแบบตัวอักษร มีหลักการพิจารณาในด้านต่างๆดังนี้
1) รูปแบบตัวอักษร ควรเลือกแบบของตัวอักษรที่อ่านง่าย และเหมาะกับงานนั้นๆและไม่ควรเกิน 2 แบบในหน้าเดียวกัน แบบอักษรไทยที่อ่านง่าย คือ แบบตัวตรงมีหัวและหัวกลมอ่านง่ายกว่าหัวเหลี่ยม
2) ขนาดตัวอักษร ขึ้นอยู่กับชนิดของสื่อและระยะทางในการดู ปกติแล้วตัวอักษรที่มีขนาดความสูง ¼ นิ้ว จะสามารถอ่านเห็นได้ในระยะ 8 ฟุต ดังนั้นหากจะให้ผู้เรียนนั่งแถวสุดท้ายของห้องเรียนที่มีความยาว 32 ฟุต อ่านข้อความในภาพที่อยู่หน้าชั้นเรียนได้ควรใช้ตัวอักษรสูงอย่างน้อย 1 นิ้ว นอกจากนี้ต้องให้ความกว้างของตัวอักษรมีความสัมพันธ์กับความสูงด้วย เพื่อความสวยงามและอ่านง่าย
3) ช่องว่างระหว่างตัวอักษร เรียกว่า ช่องไฟ ถ้าจัดช่องไฟเท่าๆกัน จะทำให้ข้อความน่าสนใจและชวนดู นอกจากนี้ยังมีช่องว่างระหว่างคำ ช่องว่างระหว่างประโยคและระยะห่างระหว่างบรรทัดควรให้เหมาะสม ข้อความจะอ่านง่ายถ้ามีระยะห่างระหว่างบรรทัดเท่ากับของความสูงของตัวอักษร
4) สีของตัวอักษร ควรใช้สีที่ตัดกันกับสีพื้น จะทำให้มองดูชัดเจนและอ่านง่าย เช่น สีดำบนพื้นเหลือง สีขาวบนพื้นน้ำเงิน เป็นต้น
2.2.5 การผลิตตัวอักษรสำหรับหัวเรื่อง(Lettering for Titles Captions) สามารถสร้างขึ้นได้ด้วยอุปกรณ์ต่างๆ เช่น พิมพ์ดีด ตัวอักษร 3 มิติ ด้วยอักษรฉลุ ตรายาง สติกเกอร์ ตัวอักษรลอก ปากกาปลายสักหลาด ไม้บรรทัดเจาะรู เครื่องเขียนลีรอยด์ ตัวอักษรที่ผลิตด้วยกรรมวิธีแบบภาพถ่าย และตัวอักษรที่พิมพ์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
2.2.6 การออกแบบพื้นหลัง(Background for title) มีหลักอยู่ว่าอย่าให้รบกวนการอ่านได้ และควรเลือกใช้วัสดุให้เหมาะสม และสีที่ใช้อาจจะเลือกใช้สีโทนสีเย็น (น้ำเงิน เทา เขียว) เป็นพื้นผิว จะได้ดูเด่นชัดเมื่อภาพหรือตัวอักษรเป็นสีโทนร้อน(แดง แสด)

3. การใช้วัสดุกราฟิกกับการสอน การใช้วัสดุกราฟิกประกอบการสอน มีหลักดังนี้
3.1 ใช้อภิปรายในแง่มุมที่เกิดปัญหาในวัสดุกราฟิกนั้น เป็นวิธีนำผู้เรียนให้เข้าใจปัญหา เกิดความสนใจที่จะศึกษาค้นคว้าในเรื่องที่ต้องการสอนได้ดีวิธีหนึ่ง แล้วยังช่วยในการชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหา
3.2 ใช้ประกอบการอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น การอธิบายลักษณะ หลักการ การใช้วัสดุกราฟิก เช่น ภาพ แผนภาพ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาต่างๆของผู้สอนได้ดีกว่าของจริงในกรณีดังกล่าว
3.3 ใช้ในการกระตุ้นความสนใจ ซึ่งช่วยเร้าการตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพจากผู้เรียน บางครั้งยังอาจมีผลต่อทัศนคติอีกด้วย
3.4 ใช้ทบทวนและสรุปบทเรียน เมื่อสอนจบแล้ว ควรสรุปเรื่องราวทั้งหมดเป็นแผนภาพ แผนภูมิ หรือวัสดุกราฟิกอื่น เพื่อให้ผู้เรียนมีความเข้าใจ และจดจำบทเรียนได้ดีขึ้นมากกว่าฟังบรรยายอย่างเดียว
3.5 สามารถนำมาใช้ได้กับทุกรูปแบบการสอน และในแง่ของการสนับสนุนข้อมูล อาทิ เช่น ในการสำเสนอ การอภิปราย สัมมนา เป็นต้น

4. ข้อควรคำนึงในการใช้วัสดุกราฟิกประกอบการสอน มีดังนี้
4.1 ผู้สอนจะต้องมีความแน่ใจว่า ผู้เรียนสามารถมองเห็นวัสดุกราฟิกที่แสดงได้อย่างชัดเจนทุกคน ข้อนี้ควรคำนึงถึงขนาดของทั้งภาพและตัวอักษรด้วย
4.2 การอธิบายของผู้สอน เสียงต้องชัดเจนและมีการเตรียมพร้อมในแง่ข้อมูล จะได้ไม่สับสนต่อผู้เรียน และต้องไม่ยืนบังวัสดุกราฟิก
4.3 อย่าแสดงวัสดุกราฟิกพร้อมกันหลายชิ้นเกินไป เพราะจะทำให้ดูไม่เด่นและผู้สอนจะสับสนเองด้วย
4.4 ต้องแน่ใจว่าวัสดุกราฟิกเรียงลำดับความคิดได้ถูกต้อง ง่ายต่อการทำความเข้าใจ
4.5 ก่อนนำมาใช้ให้ทดสอบดูให้แน่ใจก่อนว่า ภาพที่ปรากฏในวัสดุกราฟิกที่แสดงไม่ทำให้ผู้เรียนเข้าใจผิด โดยเฉพาะพวกแผนภาพที่แสดงกิจกรรมและการเคลื่อนไหว

บทสรุป

สื่อที่ไม่ต้องใช้เครื่องฉายนี้ นับว่ามีความสำคัญต่อการเรียนการสอนไม่แพ้สื่อประเภทอื่น ทั้งนี้เพราะใช้งานง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์การฉายแต่อย่างใด ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก ซึ่งมีมากมายหลายชนิดที่นิยมใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน ได้แก่ สื่อที่เป็นของจริง หุ่นจำลอง รูปภาพ วัสดุกราฟิก ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น นับว่ามีความสำคัญมากกับการเรียนการเรียนการสอน เพราะนำมาใช้งานได้สะดวกใช้ได้ทุกสถานที่ ราคาไม่แพง อีกทั้งผู้สอนและผู้เรียนสามารถร่วมกันจัดหาหรือผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอน เป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนสื่อ รวมทั้งเป็นการประหยัดงบประมาณของสถานศึกษาด้วย

คำถามทบทวน

1. จงยกตัวอย่างของจริงที่สามารถนำมาใช้ในการเรียนการสอนในห้องเรียน มา 3 อย่าง
2. หุ่นจำลอง หมายถึงอะไร
3. จงยกตัวอย่างหุ่นจำลองมา 3 ประเภท
4. จงอธิบายถึงลักษณะของรูปภาพที่เหมาะกับการนำมาใช้กับการเรียนการสอน
5. วัสดุกราฟิก หมายถึงอะไร
6. จงอธิบายถึงหลักของการออกแบบทั่วไป
7. การออกแบบตัวอักษรมีหลักที่ต้องพิจารณาอะไรบ้าง
8. จงยกตัวอย่างแผนสถิติมา 3 ชนิด พร้อมอธิบายถึงการนำไปใช้
9. จงยกตัวอย่างแผนภูมิมา 3 ชนิด พร้อมอธิบายถึงแนวทางการนำไปใช้
10. จงอธิบายถึง คุณค่าของการ์ตูนกับการเรียนการสอน